ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยจึงถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ตั้งแต่การลงทะเบียนเข้ารับบริการ ไปจนถึงการบันทึกผลวินิจฉัย การรักษา ประวัติการใช้ยา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดการรั่วไหลหรือถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว และแม้กระทั่งชื่อเสียงของผู้ป่วย ในขณะเดียวกัน คลินิกหรือสถานพยาบาล ที่จัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยโดยไม่รัดกุม อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เสียค่าปรับจำนวนมาก หรือสูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชาชนเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตนภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น PDPA (ประเทศไทย) HIPAA (สหรัฐอเมริกา) และ GDPR (สหภาพยุโรป) ที่ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเข้มงวด
ดังนั้น ไม่ว่าคลินิกจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ การมีระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ปลอดภัย โปร่งใส และสอดคล้องกับกฎหมายจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับแนวทางสำคัญที่คลินิกสามารถนำไปใช้เพื่อป้องกันการรั่วไหลของประวัติส่วนตัวผู้ป่วย ที่ครอบคลุมทั้งด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และแนวทางปฏิบัติ ให้คุณสามารถยกระดับความปลอดภัยของคลินิกแบบมืออาชีพได้
3 กฎหมายสำคัญ ที่ควรปฏิบัติตาม
การเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยให้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่เรื่องของจริยธรรมในวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อบังคับตามกฎหมายที่คลินิกทุกแห่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการส่งต่อ แลกเปลี่ยน หรือจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยจึงต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ปลอดภัย และตรวจสอบได้ มารู้จัก 3 กฎหมายสำคัญที่ควรรู้กัน
HIPAA (Health Insurance Portability and Accountability Act)
คือ กฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้ในปี 1996 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปกป้องข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย และควบคุมการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลสุขภาพสามารถถูกจัดเก็บหรือส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
1. การปกป้องข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล
- ข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ร่วมกับข้อมูลสุขภาพ เช่น ชื่อ หมายเลขประกัน หรือประวัติการรักษา
- ห้ามเปิดเผยหรือแชร์ข้อมูลเหล่านี้โดยไม่มีการอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล
2.สิทธิของผู้ป่วย
- ผู้ป่วยมีสิทธิขอเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตน
- ขอแก้ไขข้อมูลหากพบว่าไม่ถูกต้อง
- รู้ว่าใครบ้างที่เข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตน
3. มาตรการด้านความปลอดภัย
- องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทั้งในรูปแบบเอกสารและดิจิทัล
- ยกตัวอย่างเช่น การเข้ารหัสข้อมูล การจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง หรือการล็อกระบบด้วยรหัสผ่าน
4. การแจ้งเหตุข้อมูลรั่วไหล (Breach Notification Rule) ซึ่งต้องแจ้งผู้ป่วยทันทีที่ข้อมูลรั่วไหล
5. บทลงโทษ ในกรณีที่มีการละเมิด HIPAA จะมีโทษปรับตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้านเหรียญสหรัฐ และอาจมีโทษทางอาญา
GDPR (General Data Protection Regulation)
คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนใน EU เพิ่มความโปร่งใสในการจัดเก็บ ใช้งาน ถ่ายโอนข้อมูล และให้สิทธิผู้เป็นเจ้าของข้อมูลควบคุมข้อมูลของตนได้มากขึ้น โดยประกอบไปด้วย
1. สิทธิของเจ้าของข้อมูล ได้แก่
- สิทธิในการเข้าถึง (Access)
- สิทธิในการแก้ไข (Rectification)
- สิทธิในการลบข้อมูล (Erasure/Right to be forgotten)
- สิทธิในการโอนย้ายข้อมูล (Data portability)
- สิทธิในการคัดค้านการใช้ข้อมูล (Objection)
2. การให้ความยินยอม (Consent) ต้องได้รับอย่างชัดเจนจากเจ้าของข้อมูลก่อนการเก็บหรือใช้งาน
3. ความโปร่งใส โดยต้องแจ้งวัตถุประสงค์การเก็บข้อมูล วิธีใช้ ระยะเวลา และสิทธิของเจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน
4. ความปลอดภัยของข้อมูลที่องค์กรต้องมีมาตรการป้องกันข้อมูลรั่วไหล เช่น การเข้ารหัส และระบบตรวจสอบสิทธิ์
5. การแจ้งเหตุข้อมูลรั่วไหลต้องแจ้งหน่วยงานกำกับและเจ้าของข้อมูลภายใน 72 ชั่วโมง
6. มีบทลงโทษที่ปรับได้สูงสุดถึง 20 ล้านยูโร หรือ 4% ของรายได้รวมทั้งปีของบริษัท
PDPA (พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562)
คือ กฎหมายของประเทศไทยที่มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน กำหนดมาตรฐานการเก็บ ใช้ และเปิดเผยข้อมูล และเพิ่มความรับผิดชอบให้กับองค์กรที่เก็บหรือประมวลผลข้อมูล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูล
- สิทธิในการขอให้ลบหรือทำลายข้อมูล
- สิทธิในการคัดค้านการประมวลผล
- สิทธิในการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง
- สิทธิในการถอนความยินยอม
2. การให้ความยินยอม
- ต้องเป็นความยินยอมโดยชัดแจ้ง
- ต้องแยกจากข้อความอื่น และเข้าใจง่าย
3. ความรับผิดชอบของผู้ควบคุมข้อมูล
- ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ก่อนการเก็บข้อมูล
- ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
- ต้องจัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัว
4. ข้อยกเว้น คือ บางกรณีสามารถเก็บข้อมูลได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม เช่น เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือภายใต้กฎหมายอื่น
5. บทลงโทษ
- โทษปรับทางแพ่งสูงสุด 5 ล้านบาท
- โทษอาญา (หากมีเจตนา) จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- โทษทางปกครองปรับสูงสุด 5 ล้านบาท
7 ข้อมูลที่ควรรรู้เพื่อรัักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยให้ปลอดภัย
ฝึกอบรมบุคลากรให้ตระหนักรู้
หนึ่งในจุดอ่อนของการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูล คือ ความรู้และพฤติกรรมของบุคลากร การฝึกอบรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น
- ความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของข้อมูลส่วนบุคคล และข้อกำหนดตาม PDPA
- ตัวอย่างการละเมิดความลับ เช่น การพูดคุยเรื่องผู้ป่วยในที่สาธารณะ การส่งข้อมูลทางไลน์แบบไม่มีการเข้ารหัส
- วิธีตอบสนองเมื่อพบเหตุละเมิดข้อมูล
การอบรมควรทำอย่างสม่ำเสมอและมีการประเมินความเข้าใจ เพื่อให้บุคลากรทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาข้อมูลผู้ป่วย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสามารถปฏิบัติงานได้ไม่พลาด
จำกัดการเข้าถึงข้อมูลและยืนยันตัวตนทุกครั้ง
การเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยควรอยู่ในระดับจำเป็นต้องรู้เท่านั้น บุคลากรแต่ละคนควรเข้าถึงเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตน เช่น พนักงานต้อนรับอาจเข้าถึงข้อมูลการนัดหมาย แต่ไม่สามารถดูประวัติการวินิจฉัยได้ โดยระบบโปรแกรมคลินิกควรมีการยืนยันตัวตนทุกครั้ง เช่น
- การเข้าสู่ระบบด้วยรหัสผ่านเฉพาะบุคคล
- การใช้ 2-Factor Authentication
- การล็อกอัตโนมัติเมื่อไม่มีการใช้งาน
ควบคุมการใช้ข้อมูล
ข้อมูลผู้ป่วยไม่ควรถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการดูแลรักษา เว้นแต่ได้รับความยินยอมอย่างชัดเจน เช่น
- การใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มโรค
- การใช้ข้อมูลในงานวิจัย
- การส่งข้อมูลให้บริษัทประกันสุขภาพ
การดำเนินการเหล่านี้ จำเป็นต้องมีเอกสารการยินยอมในการใช้ข้อมูล (Consent Form) ที่เข้าใจง่ายและครอบคลุมขอบเขตการใช้งาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย ผิดกฎหมายได้
บันทึกประวัติการเข้าถึง
หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ช่วยให้การเก็บรักษาข้อมูลผู้ป่วย และประวัติส่วนตัวผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้น คือการติดตั้งระบบ Audit Trail หรือระบบบันทึกประวัติการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งควรเป็นฟีเจอร์มาตรฐานของระบบโปรแกรมคลินิก ที่ทำหน้าที่เก็บหลักฐาน การเข้าถึงทุกครั้งอย่างละเอียด โดยต้องสามารถระบุได้ว่า
- ใครเป็นผู้เข้าถึงข้อมูล เช่น ชื่อผู้ใช้หรือรหัสประจำตัวพนักงาน
- วันและเวลาที่เข้าถึงข้อมูล
- เข้าถึงข้อมูลใดบ้าง เช่น ประวัติการรักษา ผลตรวจ หรือข้อมูลระบุตัวตน
- ทำอะไรกับข้อมูล เช่น อ่าน แก้ไข ลบ หรือส่งต่อ
การบันทึกข้อมูลลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย แต่ยังเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับการตรวจสอบในระบบและการสอบสวนในกรณีที่มีการร้องเรียนหรือสงสัยว่าเกิดการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยโดยมิชอบ หรือการละเมิดความลับผู้ป่วยตามกฎหมาย เช่น PDPA และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ป่วยว่าคลินิกมีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีมาตรการควบคุมการเข้าถึงที่ตรวจสอบได้จริง
เข้ารหัสข้อมูล (Data Encryption)
การเข้ารหัสข้อมูลจะช่วยป้องกันข้อมูลในกรณีที่ระบบหรืออุปกรณ์ถูกแฮ็ก หรือสูญหาย โดยควรการเข้ารหัสข้อมูล 2 แบบ คือ
- เข้ารหัสข้อมูลขณะจัดเก็บ
- เข้ารหัสข้อมูลขณะส่งผ่านเครือข่าย เช่น การส่งข้อมูลผู้ป่วยทางอีเมลควรใช้ระบบ Secure Email หรือ HTTPS และการจัดเก็บข้อมูลใน Cloud ต้องเลือกผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง
ประเมินความเสี่ยงให้เป็นประจำ
คลินิกควรมีการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น
- การตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ (Vulnerability Scan)
- การทดสอบการเจาะระบบ (Penetration Test)
- การวิเคราะห์ภัยคุกคามจากภายนอกและภายใน
จากนั้น ควรมีแผนปรับปรุงที่เป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย
สำรองข้อมูลแบบ Offsite ให้ได้
แม้จะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี แต่ก็ยังมีโอกาสที่ข้อมูลจะสูญหายจากเหตุไม่คาดคิด เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือ แรนซัมแวร์ ทำให้การสำรองข้อมูลแบบ Offsite เช่น Cloud หรือศูนย์ข้อมูลอื่นที่แยกจากคลินิกจึงจำเป็น เพราะจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจ เนื่องจาก
- มีการสำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ (Daily/Weekly Backup)
- ข้อมูลสำรองถูกเข้ารหัส
- สามารถกู้คืนได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น
การเก็บรักษาข้อมูลผู้ป่วยไม่ใช่เพียงแค่ความรับผิดชอบของแผนกไอที แต่คือความรับผิดชอบร่วมกันของคลินิกทั้งระบบ ตั้งแต่เจ้าของกิจการ แพทย์ พนักงาน ไปจนถึงผู้พัฒนาโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง เมื่อคลินิกความงามของคุณปฏิบัติตามแนวทางที่ควรได้ครบถ้วน ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงจากการละเมิดประวัติส่วนตัวผู้ป่วยหรือการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย PDPA อย่างมืออาชีพ การมีตัวช่วยอย่างการใช้โปรแกรมคลินิกที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่เจ้าของคลินิกไม่ควรมองข้าม
คำถามที่พบบ่อย
สิทธิของผู้ป่วยมีอะไรบ้าง
- สิทธิในการรับรู้ข้อมูล ซึ่งผู้ป่วยมีสิทธิได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรค การรักษา และผลข้างเคียงอย่างชัดเจน
- สิทธิในการตัดสินใจรักษา เพราะผู้ป่วยสามารถเลือกหรือปฏิเสธการรักษาได้กับร่างกายของตน
- สิทธิในความลับ เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์ของผู้ป่วยต้องได้รับการปกป้อง ไม่เปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต
- สิทธิในการขอข้อมูลเวชระเบียน โดยผู้ป่วยสามารถขอดูหรือคัดลอกข้อมูลจากแฟ้มเวชระเบียนของตนได้
- สิทธิในการร้องเรียน หากได้รับบริการที่ไม่เหมาะสมหรือมีการละเมิดสิทธิ ผู้ป่วยสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
ข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยคืออะไร?
- ชื่อ-นามสกุล
- เลขบัตรประชาชนหรือเลขเวชระเบียน
- ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล
- ประวัติการรักษาและการแพ้ยา
- ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือภาพทางการแพทย์ เช่น X-ray หรือ MRI
- ข้อมูลประกันสุขภาพหรือสิทธิการรักษา
- ข้อมูลสุขภาพจิตหรือภาวะโรคเฉพาะทาง
ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่?
ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวตามกฎหมาย PDPA
- เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงสถานะทางสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ
- ครอบคลุมประวัติการรักษา ผลตรวจ โรคประจำตัว ฯลฯ
- ต้องได้รับการดูแล ปกป้อง และขอความยินยอมก่อนการเก็บ ใช้ หรือเปิดเผย
- หากละเมิด อาจมีความผิดตามกฎหมาย PDPA ทั้งทางแพ่งและอาญา
ใครมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย?
ตามกฎหมาย PDPA ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง และมีเหตุผลชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ได้แก่
- แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วย
- เจ้าหน้าที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ในส่วนที่จำเป็นต่อการให้บริการ เช่น การนัดหมายหรือเวชระเบียน
- ผู้ป่วยเจ้าของข้อมูล ที่มีสิทธิ์เข้าถึง ตรวจสอบ และขอสำเนาข้อมูลของตนเอง
- ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจแทน ในกรณีผู้ป่วยเป็นผู้เยาว์หรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้เอง
- หน่วยงานรัฐหรือกฎหมายที่กำหนด ในกรณีที่มีคำสั่งศาล หรือเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข และความปลอดภัยตามที่กฎหมายอนุญาต
หากข้อมูลผู้ป่วยรั่วไหล ใครต้องรับผิด?
หากเกิดกรณีที่ข้อมูลผู้ป่วยรั่วไหล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งโดยมาก คือ เจ้าของคลินิกหรือผู้บริหารสถานพยาบาลจะต้องเป็น ผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย PDPA โดยตรง โดยความรับผิดที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ความรับผิดทางแพ่ง โดยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายจากการรั่วไหล
- ความรับผิดทางอาญา หากจงใจเปิดเผยข้อมูลโดยมิชอบ อาจถูกจำคุกหรือปรับ
- ความรับผิดทางปกครอง ซึ่งอาจถูกคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสั่งปรับสูงสุดถึง 5 ล้านบาท
ผู้ป่วยสามารถขอดูหรือขอลบข้อมูลของตนได้หรือไม่?
ตามกฎหมาย PDPA ผู้ป่วยมีสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง โดยสามารถใช้สิทธิดังนี้
- ขอดูข้อมูล โดยผู้ป่วยสามารถขอเข้าถึงหรือขอสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่คลินิกจัดเก็บไว้
- ขอแก้ไขข้อมูล หากข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน สามารถร้องขอให้คลินิกแก้ไขให้ถูกต้อง
- ขอลบข้อมูล ซึ่งผู้ป่วยสามารถขอให้ลบข้อมูลได้ในบางกรณี เช่น หมดความจำเป็นในการจัดเก็บ หรือถอนความยินยอม
ระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วย (HIS / EMR) ต้องปฏิบัติตาม PDPA อย่างไร?
ระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วย (HIS/EMR) ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย
โรงพยาบาลหรือคลินิกสามารถนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้เพื่อการตลาดได้หรือไม่?
โรงพยาบาลหรือคลินิกไม่สามารถนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้เพื่อการตลาดได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมอย่างชัดเจนจากผู้ป่วยก่อนเท่านั้น โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมาย
Copyright © 2025 Proclinic Group Co., Ltd. All rights reserved.
Published on : May 10, 2025